"ซื้อสินค้าทางออนไลน์อย่างมั่นใจ" ด้วยวิธีตรวจสอบข้อมูล จากสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย
1. หากเจอสินค้าที่ราคาถูกกว่าราคาท้องตลาดมากๆ จนผิดสังเกต ให้ตรวจสอบกับผู้ซื้อให้มั่นใจเสียก่อน อย่าเห็นแก่ของราคาถูกและรีบโอนเงินไปให้ก่อน เพราะผู้ร้ายมักตั้งราคาสินค้าให้ถูกกว่าท้องตลาด เพื่อโน้มน้าวให้คุณสนใจและซื้อ
2. หลีกเลี่ยงการจ่ายเงินจำนวนมากๆ ให้กับคนที่เราไม่เคยซื้อของด้วยมาก่อน หากต้องการทำจริง ขอให้ไปเจอหน้า แล้วมอบเงินให้กันดีกว่า เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ร้ายมักหลีกเลี่ยงการพบหน้ากันจริงๆ จะมีเทคนิคการโน้มน้าวให้คุณโอนเงินไปให้ก่อนจึงควรระมัดระวัง
3. เมื่อพบหน้าในกรณีที่ได้พบหน้ากันจริงให้ขอเอกสารยืนยันการซื้อ หรือติดต่อ เช่น สำเนาบัตรประชาชน หรือเอกสารยืนยันการซื้อสินค้า หรืออย่างน้อยขอถ่ายภาพของผู้ขายไว้
4. ทดลองสั่งซื้อของจำนวนน้อยๆ ก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ค้าคนนั้น ส่งของจริง และมีตัวตนจริงซึ่งในรายที่ต้องการฉ้อโกงจะพยายามให้คุณสั่งของคราวละมากๆ ต้องระมัดระวังอย่างมาก
5. อย่าไว้ใจ Social Network ของผู้ขาย เพราะบางคนมีหลายบัญชีผู้ใช้ พยายามขอบัญชีผู้ใช้งานจริงที่ใช้ในการติดต่อ ทำให้สามารถตรวจสอบกลุ่มเพื่อนหรือผู้ติดตามและพฤติกรรมของการใช้งานจริงได้ โดยถ้าผู้ขายผ่าน Social Network มีความจริงใจก็ต้องยินดีในการให้บัญชีผู้ใช้งานจริง
6. ควรตรวจสอบว่า ผู้ขายมีชื่อจริง นามสกุลจริง หรือชื่อของเจ้าของร้านแสดงอยู่หรือไม่ หากมีชื่อจริง หรือเลขบัญชีธนาคารที่ต้องโอนเงินชำระค่าสินค้าให้ ควรค้นหาตรวจสอบชื่อ นามสกุลใน Google เสียก่อนก่อนว่ามีประวัติอย่างไรมาบ้าง เพราะหากเป็นชื่อหรือบัญชีที่เคยมีการโกงมาก่อน ก็อาจจะเจอคนอื่นๆ แสดงความเห็นไว้ในที่อื่นๆ เช่นกัน และหากเป็นบัญชีธนาคารในรูปแบบบริษัทหรือนิติบุคคล ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
7. ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์ ว่าชื่อเว็บนี้ตั้งมานานแล้วหรือไม่ ตรวจสอบได้ที่ http://dawhois.com สำหรับ .com และสำหรับชื่อเว็บที่ลงท้ายด้วย .th ตรวจสอบได้ที่ http://thnic.co.th/whois หากเว็บที่เปิดมานานแล้วเกิน 6 เดือนขึ้นไป ก็จะมีความน่าเชื่อมากกว่าเว็บที่เพิ่งเปิดมาเพียงไม่กี่เดือน เพราะส่วนใหญ่เว็บที่หลอกลวงจะเปิดได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น
8. หากเป็นผู้ที่ขายกับผู้ให้บริการที่มีชื่อเสียงก็จะมีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง เพราะผู้ให้บริการจะมีการตรวจสอบร้านค้ามาก่อน
9. ตรวจสอบจากการพูดคุยและโต้ตอบกันก่อนหน้านี้ของผู้ขายหรือเว็บนั้นๆ เช่น ในเว็บบอร์ด หรือ Social Network ดูว่ามีคนเข้าไปเขียนตอบอะไรบ้าง หรือกระทู้ล่าสุดที่ตอบคือเมื่อไร เพราะหากคำถามถูกทิ้งไม่ได้ตอบไว้นานจะมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า และต้องตรวจสอบว่ามีผู้เคยได้รับสินค้าแล้วหรือไม่ด้วย เพราะจะสามารถตรวจสอบตัวตนของเจ้าของนั้นได้ และควรระวังบัญชีผู้ใช้ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่
10. ตรวจสอบดูความใหม่ของสินค้าหน้าเว็บไซต์และการอัพเดทเว็บไซต์ หากเว็บไซต์มีการอัพเดทเป็นประจำ เช่น มีสินค้าใหม่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่น การเปลี่ยนแปลงข่าวสารหน้าเว็บเป็นประจำ ก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าของร้านดูแลหน้าเว็บไซต์เป็นประจำ ทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น
11. ตรวจสอบดูว่ามีลูกค้าที่เคยซื้อสินค้ากับร้านนี้หรือไม่ ลองตรวจสอบทางเว็บบอร์ดของทางร้าน หากมีหรือลองอีเมลติดต่อไปหาคนที่เคยซื้อไปว่าบริการของร้านค้าเป็นอย่างไรบ้าง เราจะได้มั่นใจมากขึ้น
12. ตรวจสอบเบอร์ติดต่อของร้านค้า ที่มีเบอร์ที่เป็น 02 หรือเบอร์บ้าน จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะมีที่อยู่หลักแหล่งแน่นอน ในเว็บไซต์ควรมีที่อยู่ของธุรกิจแสดงอยู่ เพื่อบ่งบอกว่าร้านค้าหรือเจ้าของร้านอยู่ที่ไหน จะดีกว่าเว็บไซต์ที่ไม่แสดงข้อมูล
13. หากเว็บไซต์นั้นๆ มีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ก็จะน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยและตรวจสอบได้ที่ http://www.dbd.go.th/edirectory
14. สำหรับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หากร้านค้านั้นรองรับการจ่ายเงินประเภทนี้ ถ้าเกิดปัญหาเราสามารถดึงเงินกลับได้เพราะเป็นชำระเงินแบบ “เครดิต” ซึ่งแตกต่างกับการจ่ายเงินสดหรือโอนเงิน เพราะหากจ่ายไปแล้ว เมื่อผู้ขายเบิกเงินไปก็ยากที่จะไปเอาเงินคืน